“ลอยกระทง” จุดเริ่มต้นแห่งตำนานกระทงดอกบัว-นางนพมาศ


“กระทงดอกบัว” และ “นางนพมาศ” จุดเริ่มต้นแห่งตำนานที่มากับความเชื่อในวันลอยกระทง

วันลอยกระทง ถือเป็นวันสำคัญอีกวันหนึ่งของคนทั่วโลก บางหลักฐานเชื่อว่าถูกกำหนดขึ้นมาเพื่อสะเดาะเคราะห์และขอขมาต่อพระแม่คงคา หรือบ้างก็เชื่อว่าเป็นการบูชารอยพระพุทธบาทที่ริมฝั่งแม่น้ำนัมทามหานที หรือเป็นการบูชาพระอุปคุตอรหันต์หรือพระมหาสาวก ทำให้แต่ละประเทศทั่วโลกจะมีการจัดงานที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวไม่เหมือนใคร

สำหรับประเทศไทย วันลอยกระทงของทุกปีจะตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 ตามปฏิทินจันทรคติของไทย ดังนั้นในแต่ละปีวันสำคัญนี้จะไม่มีวันที่ตายตัว แต่ที่แน่นอนจะอยู่ในช่วงเดือนพฤศจิกายนของทุกปี 

และ ในปีนี้จะตรงกับวันที่ 8 พฤศจิกายน 2565

ประวัติวันลอยกระทงไทย

วันลอยกระทงของไทยนั้น ไม่มีหลักฐานระบุอย่างแน่ชัดว่าเริ่มต้นมาตั้งแต่เมื่อไร แต่เชื่อว่าประเพณีนี้ได้สืบต่อกันมาอย่างยาวนานตั้งแต่สมัยสุโขทัย โดยในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหง มีหลักฐานจากศิลาจารึกหลักที่ 1 กล่าวถึงงานเผาเทียนเล่นไฟว่าเป็นงานรื่นเริงที่ใหญ่ที่สุด ทำให้เชื่อกันว่างานดังกล่าวน่าจะเป็นงานลอยกระทง ซึ่งในสมัยนั้นเรียกประเพณีนี้ว่า “พิธีจองเปรียญ” หรือ “การลอยพระประทีป”

ในสมัยก่อนนั้นพิธีลอยกระทงจะเป็นการลอยโคม โดยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงสันนิษฐานว่า พิธีลอยกระทงเป็นพิธีของพราหมณ์ จัดขึ้นเพื่อบูชาเทพเจ้า 3 องค์ คือ พระอิศวร (พระศิวะ) พระนารายณ์ (พระวิษณุ) และพระพรหม ต่อมาได้นำพระพุทธศาสนาเข้าไปเกี่ยวข้อง จึงให้มีการชักโคม เพื่อบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และลอยโคมเพื่อบูชารอยพระบาทของพระพุทธเจ้า

ก่อนที่ นางนพมาศ หรือ ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ สนมเอกของพระร่วงจะคิดค้นประดิษฐ์ “กระทงดอกบัว” ขึ้นเป็นคนแรกแทนการลอยโคม

เมื่อสมเด็จพระร่วงได้เสด็จฯ ทางชลมารค ทอดพระเนตรกระทงของนางนพมาศก็ทรงพอพระราชหฤทัย จึงโปรดให้ถือเป็นเยี่ยงอย่าง และให้จัดประเพณีลอยกระทงขึ้นเป็นประจำทุกปี แต่ให้ใช้กระทงดอกบัวแทนโคมลอย

ประเพณีลอยกระทงสืบต่อกันเรื่อยมา จนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น สมัยรัชกาลที่ 1 – รัชกาลที่ 3 พระบรมวงศานุวงศ์ตลอดจนขุนนางนิยมประดิษฐ์กระทงใหญ่เพื่อประกวดประชันกัน ซึ่งต้องใช้แรงคนและเงินจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 4 ทรงเห็นว่าเป็นการสิ้นเปลือง จึงโปรดให้ยกเลิกการประดิษฐ์กระทงใหญ่แข่งขัน และโปรดให้พระบรมวงศานุวงศ์ทำเรือลอยประทีปถวายองค์ละลำแทนกระทงใหญ่ และเรียกชื่อว่า “เรือลอยประทีป”

ต่อมาในรัชกาลที่ 5 และรัชกาลที่ 6 ได้ทรงฟื้นฟูพระราชพิธีนี้ขึ้นมาอีกครั้ง แต่การลอยพระประทีปของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงกระทำเป็นการส่วนพระองค์ตามพระราชอัธยาศัย

กิจกรรมวันลอยกระทง

ในช่วงวันลอยกระทง กิจกรรมที่คนไทยมักทำกัน ไม่ได้มีแต่ลอยกระทงเท่านั้น ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ได้แก่

1.) ประกวดนางนพมาศ

ด้วยประวัติของ นางนพมาศ สนมเอกของพระร่วงเจ้า ที่เป็นหญิงงาม ฉลาด และเป็นผู้ประดิษฐ์กระทงรูปดอกบัวคนแรก จึงเป็นต้นแบบของการประกวดนางนพมาศในวันลอยกระทงนั่นเอง

2.) ไหว้พระทำบุญในวันลอยกระทง

การตักบาตรไหว้พระทำบุญ จะช่วยเสริมสิริมงคลให้กับชีวิตและครอบครัว ที่สำคัญยังช่วยให้จิตใจผ่องใสได้ด้วย

3.) ลอยกระทง

การลอยกระทงนอกจากจะเป็นอีกกิจกรรมหนึ่งที่น่าทำแล้ว ยังเป็นการร่วมสืบสานประเพณีไทยด้วย รวมถึงยังเป็นการแสดงถึงความกตัญญูกตเวทีต่อสายน้ำ ด้วยการรำลึกและขอขมาพระแม่คงคา

4.) ปล่อยโคมลอย

การปล่อยโคมลอย เป็นประเพณีทางภาคเหนือที่จะใช้โคมลอยแทนกระทง ซึ่งจะเรียกว่า “ยี่เป็ง” โดยเป็นความเชื่อว่าเป็นการลอยเคราะห์ ให้ประสบแต่สิ่งดีงาม และยังเป็นการอนุรักษ์ประเพณีอันดีงามที่สืบทอดมาแต่ครั้งปู่ ย่า ตา ยายด้วย

5.) ทำความสะอาดแม่น้ำลำคลอง

หากใครที่กำลังอยากจะทำความดีในวันลอยกระทงนั้น อาจจัดกลุ่มหรือเข้าร่วมกลุ่มทำความสะอาดแม่น้ำลำคลองได้ เพราะเป็นการปลูกฝังตัวเองให้รู้จักคุณค่าของน้ำ ถือเป็นการทำความดีอย่างหนึ่งนั่นเอง

6.) ชมปรากฏการณ์จันทรุปราคา

วันลอยกระทงปีนี้พิเศษกว่าปีไหนๆ เพราะตรงกับการเกิดปรากฏการณ์จันทรุปราคาเต็มดวง ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่เวลา 17.44-20.56 น.

ใส่ความเห็น